skip to Main Content
โทร/แฟกซ์ 02-2189526
TH

กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 1 เกริ่นนำ

คงไม่มีใครอยากฟ้อง หรือ ถูกฟ้องคดี ต้องไปขึ้นศาล แต่..เราก็ควรจะรู้กฎหมายไว้บ้าง เพราะเมื่อรัฐตรากฎหมาย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ท่านถือว่าประชาชนรู้กฎหมายฉบับนั้นแล้ว จะอ้างเพื่อแก้ต่างว่าไม่รู้ ไม่ได้อ่าน คงไม่ได้ ต้องเรียนให้ทราบว่า ผู้เขียน เรียบเรียง เพียงแต่เรียนนิติศาสตร์ ประสบการณ์น้อย คอลัมภ์กฎหมายน่ารู้นี้ น่าจะเป็นเวทีแบ่งปันความรู้ด้านกฎหมาย อยากให้ทุกท่านมีส่วนร่วม ท่านที่รู้มากกว่า ก็มาแชร์ให้ท่านอื่น

เนื่องจากกฎหมายมีหลายประเภท แต่ละชนิดก็มีระดับความสำคัญ หากจะเรียงจากสำคัญมากไปสู่ น้อย ก็จะได้ดังนี้

รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบการบริหารประเทศ ผู้บริหารสูงสุดในการปกครอง อาจกระทำอย่างรวบรัด ตั้งแต่การยกร่าง การพิจารณาโดยไม่เปิดเผย แล้วประกาศใช้เลยก็ได้ ในสถานการณ์ปกติ การจัดทำรัฐธรรมนูญ จะมีการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างและพิจารณา อาจเรียกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ เมื่อยกร่างและพิจารณาเสร็จแล้วก็จะนำขึ้นทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้โดยมีสภาดังกล่าวเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับปัจจุบัน เป็นต้น

พระราชบัญญัติ มีความสำคัญรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น ตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ผู้ที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติมี 3 ฝ่าย คือ 1.คณะรัฐมนตรี 2.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คน สังกัดพรรคเดียวกัน  3.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ส่วนการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ ของสภาผู้แทนราษฎร แบ่งเป็น 3 วาระ ๆ ที่ 1 รับหลักการ ลงมติรับ ก็ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณารายละเอียด วาระที่ 2 แปรญัตติ พิจารณาเรียงลำดับมาตราที่มีการขอแปรญัตติและลงมติเฉพาะมาตรานั้น ๆ วาระที่ 3 ลงมติ ถ้าให้ความเป็นชอบ ก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ซึ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา ก็แบ่งเป็น 3 วาระเช่นเดียวกัน แต่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน แล้วส่งให้วุฒิสภา พิจารณาให้เสร็จภายใน 20 วัน ถ้าวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งคืน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๆ จะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลา 180 วันได้ล่วงพ้นไปแล้ว ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญติเดิม ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นให้ใช้บังคับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1.พระราชกำหนดทั่วไป ออกในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัดสาธารณะ 2.พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ผู้นำเสนอร่างพระราชกำหนด ได้แก่ รัฐมนตรีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ส่วนผู้พิจารณา ก็คือ คณะรัฐมนตรี  พระราชกำหนดที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจินุเบกษาแล้ว จึงจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย พระราชกำหนดที่ประกาศใช้แล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภา ถ้าเป็นพระราชกำหนดทั่วไปจะต้องเสนอโดยไม่ชักช้า ถ้าเป็นพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นตกไป สิ้นผลบังคับใช้ไม่เป็นกฎหมายอีกต่อไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไประหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ถ้ารัฐสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์รองลงมาจากพระราชบัญญัติ การออกพระราชกฤษฎีกาต้องอาศัยกฎหมายอื่นที่มีศักดิ์สูงกว่าซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจให้ออกได้ เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติให้การแบ่งส่วนราชการในสำนักเลขานุการรัฐมนตรี กรม หรือส่วนรายการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ให้ตราเป็นพระราช-กฤษฎีกา เป็นต้น ผู้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็เป็นผู้เสนอ ผู้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาว่าพระราชกฤษฎีกานั้น มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจออกได้หรือไม่ มีข้อความใดขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายแม่บทหรือไม่

กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งรัฐมนตรีผู้รับการตามพระราชบัญญัติ ได้ออกเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ดังนั้นกฎกระทรวงจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายแม่บท ผู้เสนอกฎกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น กล่าวคือ เป็นเรื่องของกระทรวงใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็เป็นผู้เสนอ ผู้พิจารณากฎกระทรวง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โดยจะพิจารณากลั่นกรองว่ามีข้อความใดขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทหรือขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ แล้วมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เป็นผู้ลงนามและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้

โปรดติดตาม ตอนที่ 2

แหล่งข้อมูล  www.thailaws.com

Back To Top