skip to Main Content
โทร/แฟกซ์ 02-2189526
TH

กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 2

การจัดทำกฎหมายท้องถิ่น  กฎหมายท้องถิ่นหรือกฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง เป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง โดยออกกฎหมายใช้บังคับในท้องถิ่นตนเองได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 รูป ซึ่งสามารถออกกฎหมายใช้บังคับในท้องถิ่นของตนเองได้ คือ

1. เทศบัญญัติ เป็นกฎหมายที่เทศบาลจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตเทศบาลนั้น ๆ

2. ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดทำขึ้นใช้ในเขตจังหวัดนั้น ๆ

3. ข้อบังคับสุขาภิบาล เป็นกฎหมายที่คณะกรรมการสุขาภิบาล จัดทำขึ้นใช้ในเขตสุขาภิบาลนั้น ๆ

4. ข้อบังคับตำบล เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตตำบลนั้น ๆ

5. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานคร

6. ข้อบังคับเมืองพัทยา เป็นกฎหมายที่เมืองพัทยาจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตเมืองพัทยา

 

ตารางการจัดทำกฎหมายท้องถิ่น

ชื่อกฎหมาย

ผู้เสนอร่าง

ผู้พิจารณา

ผู้อนุมัติ

การประกาศใช้

เทศบัญญัติ

คณะเทศมนตรีหรือสมาชิกสภาเทศบาล

สภาเทศบาล

ผู้ว่าราชการจังหวัด บางกรณี รมว. มหาดไทย

สำนักงานเทศบาล 7วัน กรณีฉุกเฉินใช้ได้ทันที

ข้อบัญญัติจังหวัด

ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ สมาชิสภาจังหวัด

สภาจังหวัด

ผู้ว่าราชการจังหวัด บางกรณี รมว. มหาดไทย

ศาลากลางจังหวัด 15 วัน กรณีฉุกเฉินใช้ได้ทันที

ข้อบังคับสุขาภิบาล

กรรมการสุขาภิบาล

คณะกรรมการสุขาภิบาล

ผู้ว่าราชการจังหวัด

สำนักงานสุขาภิบาล 7 วัน กรณีฉุกเฉินใช้ได้ทันที

ข้อบังคับตำบล

คณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

นายอำเภอ

ที่ว่าการอำเภอ

ข้อบัญญัติกรุงเทพ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกกรุงเทพ

สภากรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ราชกิจจานุเบกษา

ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

ปลัดเมืองพัทยาหรือสมาชิกสภาเมืองพัทยา

สภาเมืองพัทยา

ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี

ศาลาว่าการเมืองพัทยาปกติ ประกาศ 3 วัน

 

การบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายที่ผ่านกระบวนการจัดทำและประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับใช้ได้ การบังคับข้อกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วันเริ่มบังคับใช้กฎหมาย อาณาเขตที่กฎหมายใช้บังคับ และบุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ 

วันเริ่มบังคับใช้กฎหมาย จะมีผลตั้งแต่เมื่อใดนั้น โดยทั่วไปในกฎหมายนั้นจะระบุวัน เวลา ที่กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ไว้ด้วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันเดียวกันกับวันที่ประกาศใช้กฎหมายก็ได้ แต่ถ้าในกฎหมายนั้นไม่ได้ระบุวันที่จะเริ่มบังคับใช้ไว้ ก็จะมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักที่ว่า “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง” เว้นแต่บางกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องบังคับใช้ย้อนหลัง ก็จะมีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายนั้นว่า ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง

อาณาเขตที่กฎหมายใช้บังคับ โดยหลักทั่วไปกฎหมายของรัฐใดประเทศใด ย่อมจะใช้บังคับเฉพาะในอาณาเขตของรัฐนั้นหรือประเทศนั้นโดยตลอดทั่วทั้งรัฐหรือประเทศ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นบางกรณีเกี่ยวกับอาณาเขตกฎหมายไทยใช้บังคับคือ

– กรณียกเว้นบังคับใช้ออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แก่ การกระทำความผิดในเรือหรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่น ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง เช่น ปลอมเงินตรา หรือความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง ฯลฯ เป็นต้น

– กรณียกเว้นไม่บังคับใช้ตลอดทั่วราชอาณาจักร อาจจะเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ สังคม ศาสนาประเพณี วัฒนธรรม เล่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498 ใช้บังคับเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีภูมิลำเนาในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ดังกล่าว เป็นต้น 

บุคคลที่กฎหมายบังคับ โดยหลักทั่วไปกฎหมายของรัฐใดประเทศใด ย่อมจะใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นหรือประเทศนั้น กฎหมายไทยจึงมีผลใช้บังคับกับทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนสัญชาติใด เชื้อชาติใด ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นตามกฎหมายบางประเทศ ที่จะไม่ใช้บังคับกับบุคคลบางคน ข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

1. พระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

2. สมาชิกรัฐสภา ในระหว่างสมัยประชุมห้ามมิให้จับ คุมขังหรือหมายเรียกตัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีขณะกระทำความผิด ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้และในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมสภาวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้  ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

  1. ประมุขของรัฐต่างประเทศ
  2. ทูตและบริวาร
  3. กองทัพที่เข้ามายึดครองอาณาจักร
  4. บุคคลอื่นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองให้ได้รับเอกสิทธิ์และคุ้มครอง
  5. บุคคลที่มีกฎหมายพิเศษให้ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง เช่น บุคคลที่ทำงานในองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ ฯลฯ เป็นต้น 

แหล่งข้อมูล  www.thailaws.com

 

Back To Top