กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 3
การตีความกฎหมาย หมายถึง การค้นหาความหมายของถ้อยคำในตัวบทกฎหมายเพื่อนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริง เนื่องมาจากการใช้กฎหมายอาจเกิดปัญหาว่า ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายไม่ชัดเจน เคลือบคลุมหรือมีความหมายได้หลายนัย จึงจำเป็นจะต้องมีการตีความกฎหมาย ซึ่งกระทำได้ 2 กรณี คือ การตีความตามตัวอักษร และการตีความตามเจตนารมณ์
การตีความตามตัวอักษร เป็นการค้นหาความหมายจากตัวอักษรของกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ดังนี้
- กรณีที่เป็นภาษาสามัญ ต้องตีความหมายอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปตามธรรมดาสามัญ หรือให้ถือเอาตามพจนานุกรม
- กรณีที่เป็นศัพท์วิชาการหรือศัพท์เทคนิค ต้องตีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ
- กรณีที่กฎหมายประสงค์จะให้มีความหมายพิเศษไปจากที่เข้าใจกันตามธรรมดาสามัญ ในกฎหมายนั้นจะทำบทวิเคราะห์ศัพท์หรือนิยามไว้ในมาตราแรก ๆ ก็ต้องถือเอาความหมายตามบทวิเคราะห์ศัพท์หรือนิยามนั้น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา บทนิยาม มาตรา 1 (11) บัญญัติว่า “กลางคืน” หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น เป็นต้น
การตีความหมายตามเจตนารมณ์ เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความมุ่งหมายหรือความต้องการของกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งมีสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ คำปรารภของทนาย เหตุท้ายมาตราต่าง ๆ รายงานการประชุมยกร่างกฎหมายนั้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่า เพราะเหตุใด หรือ ต้องการอะไร จึงบัญญัติกฎหมายไว้เช่นนี้ สำหรับกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงถึงประหารชีวิต และกระทบกระเทือนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การตีความกฎหมายอาญาจึงต้องมีกฎเกณฑ์พิเศษ คือ
- ต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า จะถือเป็นความผิดและลงโทษผู้กระทำผิดได้ จะต้องเป็นกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น
- จะตีความให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลมิได้ กล่าวคือ จะตีความขยายความให้เป็นการลงโทษ หรือเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้นไม่ได้
- กรณีเป็นที่สงสัย จะต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้กระทำความผิด กล่าวคือ ถ้าพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ยังเป็นที่เคลือบคลุม ยังสงสัย หรือไม่แน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ถือว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามสุภาษิตทางกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าการที่จะลงโทษคนบริสุทธิ์คนเดียว”
ช่องว่างของกฎหมาย หมายถึง กรณีที่ผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถจะหาตัวบทกฎหมายปรับใช้กับคดีที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงไม่ได้บัญญัติไว้ จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมาย
การอุดช่องว่างกฎหมาย ถ้ากฎหมายกำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้แล้ว จะต้องทำตามวิธีการที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรค 2 และวรรค 4 กำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้ว่า เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็ให้ใช้หลักกฎหมายทั่วไป ในกรณีที่กฎหมายนั้นไม่ได้กำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้ ศาลจะต้องพยายามหาหลักเกณฑ์มาพิจารณาวินิจฉัยให้ได้เสมอ ศาลจะอ้างเหตุไม่รับฟ้องหรือยกฟ้องคดี โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายที่จะนำมาใช้ปรับแก่คดีไม่ได้ ในกฎหมายอาญานั้น ศาลอาจจะอุดช่องว่างของกฎหมายได้ ก็เฉพาะในทางที่เป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่จำเลยเท่านั้น
การยกเลิกกฎหมาย คือ การทำให้กฎหมายสิ้นสุดการบังคับใช้ ซึ่งกระทำได้ทั้งการยกเลิกโดยตรงและโดยปริยาย
การยกเลิกกฎหมายโดยตรง เป็นกรณีที่ที่มีกฎหมายระบุให้ยกเลิกไว้อย่างชัดแจ้ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
- กฎหมายนั้นกำหนดวันยกเลิกเอาไว้เอง เช่น บัญญัติเอาไว้ว่า “พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปเป็นเวลาสองปี” เมื่อครบกำหนด 2 ปี กฎหมายนั้นก็สิ้นสุดการบังคับใช้ไปเอง
- ออกกฎหมายใหม่มายกเลิก โดยกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน และมีบทบัญญัติระบุให้ยกเลิก เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เป็นต้น
- เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด พระราชกำหนดเมื่อประกาศใช้แล้ว จะต้องให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้ารัฐสภามีมติไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็จะสิ้นสุดการบังคับใช้
การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดระบุให้ยกเลิกไว้อย่างขัดแจ้ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
- เมื่อกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายใหม่ ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
- เมื่อกฎหมายใหม่มีข้อความขัดแย้งกับกฎหมายเก่า ให้ใช้กฎหมายใหม่ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายทั้ง 2 กรณี ดังกล่าวต้องใช้กฎหมายใหม่ เพราะเหตุว่า บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา กฎหมายเก่าที่ใช้มาเป็นเวลานานอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัย การใช้กฎหมายใหม่ย่อมเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า
- กฎหมายแม่บทถูกยกเลิก กฎหมายบริวารถูกยกเลิกด้วย กฎหมายบริวารหรือกฎหมายลูกที่ออกมาใช้โดยอาศัยกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิก ถือว่ากฎหมายบริวารถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
หมายเหตุ: การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นย่อมตกไป ก็ถือว่าเป็นการยกเลิกกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง
แหล่งข้อมูล www.thailaws.com